ประวัติความเป็นมา

แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดชายแดนจังหวัดหนึ่ง ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับสหภาพพม่า ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของภาคเหนือ โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 924 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 12,681.259 ตารางกิโลเมตร
ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมือง แม่สะเรียง ขุนยวม ปาย แม่ลาน้อย สบเมย และปางมะผ้า
แม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่า เมืองสามหมอก เนื่องจากเป็นเมืองในหุบเขา ล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนทอดขนานไปกับทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาแดนลาว
ดังนั้น จึงถูกปกคลุมด้วยหมอกตลอดทั้งปี มีทิวทัศน์สวยงามตามธรรมชาติของเทือกเขาสลับซับซ้อนและป่าไม้นานาพันธุ์จนมีคำกล่าวว่าเปรียบเสมือนกับเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของเมืองไทย
ประวัติและความเป็นมาจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อปี พ.ศ. 2374 พระเจ้ามโหตรประเทศ ผู้ครองนครเชียงใหม่ ให้ เจ้าแก้วเมืองมา เป็นแม่กอง นำไพร่พลช้างต่อและหมอควาญ ออกไปจับช้างป่ามาใช้งาน
เจ้าแก้วเมืองมา ยกไพร่พลข้ามภูเขา มาทางตะวันตกของเชียงใหม่ ซึ่งมีช้างป่าชุกชุม โดยมอบหน้าที่ให้ พะกาหม่อง เป็นผู้ควบคุมดูแล เมื่อคล้องช้างได้เป็นจำนวนเพียงพอแล้ว จึงพากันเดินทางต่อไปถึงชุมชนบ้านป่าแห่งหนึ่ง มีทำเลดีมีร่องธารน้ำและที่ราบ เหมาะแก่การฝึกช้างป่า จึงหยุดไพร่พลตั้งบ้านเรือนขึ้นที่นี่ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “แม่ร่องสอน” หมายถึงที่มีร่องน้ำฝึกช้าง ต่อมา ได้เพี้ยนเป็น “แม่ฮ่องสอน”
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2399 มีชาวไทยใหญ่ อพยพมาหลบภัยสงครามอยู่ที่แม่ร่องสอนเป็นจำนนมาก โดยมี เจ้าฟ้าโกหล่าน และชานกะเล เป็นหัวหน้า เมื่อมาอยู่ที่นี่ ชานกะเล ได้ช่วยหน่วยงานต่างๆ จนเป็นที่โปรดปรานของพะกาหม่องถึงกับยกลูกสาวชื่อนางไส ให้เป็นภรรยา
ต่อมาชานกะเล อพยพครอบครัวลงใต้มาอยู่ที่เมืองกุ๋นลม หรือขุนยวมในปัจจุบัน ได้เป็นเจ้าเมืองกุ๋นลมคนแรก ต่อมานางไสถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าโกหล่าน ยกหลานสาวชื่อเจ้านางเมี๊ยะให้เป็นภรรยา ชานกะเลปกครองเมืองกุ๋นลม เจริญมั่งคั่งส่งส่วยตอไม้ให้ได้มากมาย จนถึง พ.ศ. 2417 เจ้าอินทวิชยานนท์ จึงแต่งตั้งชานกะเลเป็น พญาสิงหนาถราชา แล้วสถาปนาเป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก
จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงถือเอาต้นกำเนิดเมือง คือ ร่องน้ำสอนช้าง และช้างตัวเดียวเล่นน้ำ เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นที่รวมของชนเผ่าไทยและชาวไทยภูเขาหลายเผ่า มาแต่โบราณ ผู้คนเหล่านี้ยังคงดำเนินชีวิตเรียบง่าย รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดังเดิมไว้ เฉกเช่นเมื่อหลายร้อยปีก่อน ประกอบด้วย ไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ ลัวะ ลีซอ จีนฮ่อ และกะเหรี่ยง

ประวัติความเป็นมาของเมืองแม่ฮ่องสอน

ความเป็นมาของเมืองแม่ฮ่องสอน

แต่เดิมนั้นบริเวณที่ตั้งเมือง แม่ฮ่องสอนปัจจุบันนี้ เป็นเพียงสถานที่ที่มีผู้คนมาปลูกกระท่อมอาศัยอยู่ บริเวณที่ราบริมเชิงเขา เป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกมาก ผู้คนที่อาศัยตามที่ราบมักจะเป็นชาวไทใหญ่ ส่วนผู้คนที่อาศัยอยู่บนดอยมักจะเป็นกะเหรี่ยง ลัวะ และมูเซอ บริเวณนี้อยู่ห่างจากแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) ประมาณ 40 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดกับรัฐฉาน ประเทศพม่า ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2374 สมัยเจ้าหลวงพุทธวงศ์ เป็นพระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และต้องการช้างป่าไว้ใช้งาน จึงให้เจ้าแก้วเมืองมา ซึ่งเป็นญาติพร้อมด้วยกำลังช้างต่อหมอควาญออกเดินทางไปสำรวจและไล่จับช้าง ป่ามาฝึกใช้งาน เจ้าแก้วเมืองมาจึงยกกระบวนเดินทางรอนแรมจากเชียงใหม่ผ่านไปทางเมืองปาย ใช้เวลาหลายคืนจนบรรลุถึงป่าแห่งหนึ่ง ทางทิศใต้ริมฝั่งแม่น้ำปาย เป็นป่าดงว่างเปล่าและเป็นดินโป่งที่มีหมูป่าลงมากินโป่งชุกชุม เจ้าแก้วเมืองมาพิจารณาเห็นว่า ที่แถวนี้เป็นทำเลที่ดี น้ำท่าบริบูรณ์สมควรที่จะตั้งเป็นหมู่บ้าน จึงหยุดพักอยู่ ณ ที่นี้ และเรียกผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมห้วย ริมเขาซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ และกะเหรี่ยง (ยางแดง) มาประชุม ชี้แจงให้ทราบถึงความคิดที่จะตั้งบริเวณนี้ขึ้นเป็นหมู่บ้าน และบุกเบิกที่ดินที่เป็นไร่นาที่ทำมาหากินต่อไป และเจ้าแก้วเมืองมาแต่งตั้งให้ชาวไทใหญ่ผู้หนึ่งซึ่งเป็นคนเฉลียวฉลาดและมี ความรู้ดีกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน ชื่อว่า “ พะกาหม่อง ” ให้เป็น “ ก๊าง ” ( คือตำแหน่งนายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน) มีหน้าที่คอยควบคุมดูแล และให้คำแนะนำพวกลูกบ้านใน การดำเนินการต่อไป พะกาหม่องได้เป็นผู้ชักชวนเกลี้ยกล่อมพวกที่อยู่ใกล้เคียง ให้ย้ายมาอยู่รวมกัน แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นว่า “บ้านโป่งหมู” โดยถือเอาว่าที่โป่งนั้น มีหมูป่าลงมากินโป่งมากนั่นเอง ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ เรียกว่า “บ้านปางหมู” อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 254 8 : 48-4 9)

เมื่อจัดตั้งหมู่บ้านแล้ว เจ้าแก้วเมืองมาก็ยกขบวนออกเดินทางตรวจชายแดน และคล้องช้างป่าต่อไป จนถึงลำห้วยแห่งหนึ่ง มีรอยช้างป่าอยู่มากมาย ก็หยุดคล้องช้างป่าได้หลายเชือก แล้วให้ตั้งคอกสอนช้างในร่องห้วย ริมห้วยนั้นเป็นพื้นที่ราบกว้างขวางพื้นดินดีกว่าบ้านโป่งหมูและมีชาวไทใหญ่ ตั้งกระท่อมอยู่เป็นอันมาก เจ้าแก้วเมืองมาพิจารณาเห็นว่า เป็นทำเลที่เหมาะสมพอที่จะตั้งเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง จึงเรียกชาวไทใหญ่อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรเขยของพะกาหม่อง ชื่อ “ แสนโกม ” มาแนะนำชี้แจงแต่งตั้งให้เป็นก๊าง ให้เป็นหัวหน้าเกลี้ยกล่อมผู้คนให้มาอยู่รวมกัน จนกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ เจ้าแก้วเมืองมาตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นว่า “ บ้านแม่ร่องสอน ” ตอนหลังได้เพี้ยนมาเป็น “บ้านแม่ฮ่องสอน” โดยอาศัยที่ร่องน้ำนั้น เป็นคอกที่ฝึกสอนช้างป่า เมื่อเจ้าแก้วเมืองมาคล้องช้างป่าได้พอสมควรแล้วก็เดินทางกลับเมือง เชียงใหม่ แล้วกราบทูลให้พระเจ้ามโหตรประเทศฯ ทราบ (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 254 8 :4 9)

เมื่อเจ้าแก้วเมืองมากลับนครเชียงใหม่ แล้วพะกาหม่องและแสนโกมบุตรเขยก็ได้พยายามชักชวนผู้คนที่อยู่ใกล้เคียง ให้อพยพครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทำมาหากินจนแน่นหนาขึ้นเป็นหมู่บ้านใหญ่ และต่อมาเห็นว่าบริเวณนั้นมีไม้สักมาก พะกาหม่องและแสนโกม เห็นว่าหากตัดเอาไม้สักนั้นไปขายประเทศพม่าโดยใช้วิธีชักลากลงลำห้วย แล้วปล่อยให้ไหลลงแม่น้ำคง(แม่น้ำสาละวิน) ก็คงได้เงินมาช่วยในด้านเศรษฐกิจและการบำรุงบ้านเมือง เมื่อปรึกษาหารือกันดีแล้วพะกาหม่องและแสนโกม จึงเดินทางเข้ามาเฝ้าพระเจ้ามโหตรประเทศฯ ที่นครเชียงใหม่ กราบทูลขออนุญาตตัดฟันชักลากไม้ไปขายแล้วจะแบ่งเงินค่าตอบแทนถวายตลอดปี พระเจ้ามโหตรประเทศฯก็ทรงอนุญาต พะกาหม่องและแสนโกม จึงทูลลากลับ และเริ่มลงมือทำไม้ขอนสักส่งไปขายที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่าได้เงินมาก็เก็บแบ่งถวายพระเจ้ามโหตรประเทศทุกปี นอกนั้นก็ใช้ประโยชน์ส่วนตัวและบำรุงบ้านเมือง (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 254 8 :4 9)

ครั้นถึงพ.ศ.2397 พระเจ้ามโหตรประเทศฯถึงแก่พิลาลัย เจ้ากาวิโลรสซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าหัวเมืองแก้วได้เป็นเจ้าผู้ครองนคร เชียงใหม่แทน ทรงนามว่า “ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ” ใน พ.ศ.2399 พะกาหม่อง และแสนโกม ก็ยังคงทำป่าไม้และส่งเงินไปถวายทุกปี พะกาหม่องกับแสนโกมจึงมีฐานะดีขึ้น และหมู่บ้านโป่งหมูและบ้านแม่ฮ่องสอนก็เจริญขึ้นตามลำดับ ในครั้งนั้นหัวเมืองไทใหญ่ตามแถบตะวันตกฝั่งแม่น้ำคง(แม่น้ำสาละวิน) เกิดการจลาจลเกิดรบราฆ่าฟัน จึงมีชาวไทใหญ่อพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านปางหมูหรือโป่งหมู และบ้านแม่ฮ่องสอนมากขึ้น บางพวกก็ลงไปอาศัยอยู่ที่บ้านขุนยวม (หมู่บ้านไทใหญ่บนเขา) บางพวกอพยพเลยขึ้นไปทางเหนือ ไปอยู่ที่เมืองปาย กลุ่มพวกไทใหญ่ที่อพยพเข้ามานี้ มีผู้หนึ่งชื่อว่า “ ชานกะเล ” เป็นชาวเมืองจ๋ามกา เป็นคนขยันขันแข็งชานกะเลเข้ามาอาศัยที่บ้านปางหมู และช่วยพะกาหม่องทำไม้ด้วยความซื่อสัตย์ และตั้งใจทำงานโดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยาก พะกาหม่องไว้วางใจและรักใคร่มาก ถึงกับยกลูกสาวชื่อนาง ใส ให้เป็นภรรยา นางใส มีบุตรกับชานกะเลคนหนึ่งชื่อนางคำ (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 254 8 : 49-50)

กาลเวลาผ่านไปหมู่บ้านปางหมู และบ้านแม่ฮ่องสอนก็มีผู้คนมาอาศัยหนาแน่นยิ่งขึ้น และในปี พ.ศ.2409 นั่นเอง มีเหตุการณ์สำคัญที่ชักนำเอาบุคคลสำคัญของชาวไทใหญ่ให้มาอพยพอยู่ใน แม่ฮ่องสอนอีกคือเจ้าฟ้าเมืองนายมีเรื่องขัดเคืองกับ เจ้าฟ้าโกหล่านเจ้าเมืองหมอกใหม่ จึงได้ยกทัพมาตีเมืองหมอกใหม่แตก เจ้าฟ้าโกหล่านเจ้าเมืองหมอกใหม่จึงพาครอบครัวอพยพเข้ามาอาศัยอยู่กับแสนโกม ที่บ้านแม่ฮ่องสอน เจ้าฟ้าโกหล่านมีภรรยาชื่อ นาง เกี๋ยง มีบุตรชายชื่อ เจ้าขุนหลวง มีหลาน 4 คนเป็นชาย 1 หญิง 3 ชายชื่อ ขุนแจหญิงชื่อ เจ้าหอม เจ้านางนุ เจ้านางเมี้ยะ เมื่อเจ้าฟ้าโกหล่านมาอาศัยอยู่ด้วย แสนโกมได้มีหนังสือทูลให้พระเจ้ากาวิโลรสฯ ทราบพระเจ้ากาวิโลรสฯ จึงรับสั่งให้ส่งตัวเข้าเฝ้า แต่เจ้าฟ้าโกหล่านป่วย จึงส่งเจ้าขุนหลวงบุตรไปแทน พระเจ้ากาวิโลรส ทรงโปรดเจ้าขุนหลวงทรงยกเจ้าอุบลวรรณาผู้เป็นหลานให้เป็นภรรยาอยู่กินด้วย กันที่เชียงใหม่ จนมีบุตรคนหนึ่งชื่อ เจ้าน้อยสุขเกษมและอนุญาตให้เจ้าฟ้าโกหล่านอาศัยอยู่ในเขตแดนต่อไป ต่อมานางใส ภรรยาของชานกะเลถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าโกหล่านจึงทรงยกเจ้านางเมี๊ยะหลานสาวคนเล็กให้เป็นภรรยาของชานกะเล ชานกะเลได้ไปตั้งเมืองอยู่บนภูเขาอีกแห่งหนึ่งทางเหนือต้นแม่น้ำยวม เรียกว่า เมืองขุนยวม ต่อมาในปี พ.ศ. 2417 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ฯ ทรงแต่งตั้งให้ ชานกะเลเป็น “ พญาสิงหนาทราชา ” เป็นพ่อเมืองคนแรก และยกฐานะหมู่บ้านแม่ฮ่องสอนขึ้นเป็นเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นเมืองหน้าด่านต่อไป และยกเมืองปาย เมืองขุนยวมเป็นเมืองรอง (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2549: 50)

พญาสิงหนาทราชา ได้ปกครองเมืองและพัฒนาเมืองแม่ฮ่องสอนให้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการขุดคูเมืองและสร้างประตูเมืองขึ้นอย่างมั่นคง จนถึง พ.ศ. 2427 พญาสิงหนาทราชาได้ถึงแก่กรรม เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้แต่งตั้งเจ้านางเมี๊ยะผู้เป็นภรรยาของพญาสิงหนาท เป็นเจ้านางเมวดีขึ้นปกครองแทน ชาวแม่ฮ่องสอนเรียกเจ้านางเมวดีว่า “ เจ้านางเมี๊ยะ ” โดยให้ปู่โทะ (พญาขันธเสมาราชานุรักษ์) เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ต่อมา พ.ศ. 2434 เจ้านางเมี๊ยะถึงแก่กรรม เจ้าอินทวิชยานนท์ผู้ปกครองนครเชียงใหม่ จึงแต่งตั้งพญาขันธเสมาราชานุรักษ์ เป็นพญาพิทักษ์สยามเขต ให้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน จนถึงพ.ศ. 2433 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาศรีสหเทพปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยได้ตรวจราชการพื้นที่หัวเมืองมณฑล ตะวันตกเฉียงเหนือจึงจัดระบบการปกครองใหม่เป็น รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองปาย และเมืองยวม (แม่สะเรียง) เป็นหน่วยเดียวกันเรียกว่า “ บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก ” ตั้งที่ว่าการแขวง (เทียบเท่าเมือง) ที่เมืองขุนยวม โดยแต่งตั้งนายโหมดเป็นนายแขวง (แจ้งความเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ร.ศ. 119 ) และในปีเดียวกันนี้เมืองเชียงใหม่ได้แต่งตั้งขุนหลู่บุตรของพญาพิทักษ์สยาม เขต เป็นพญาพิศาลฮ่องสอนบุรี พ.ศ. 2446 ได้ย้ายที่ว่าการแขวงจากเมืองขุนยวม ไปตั้งที่เมืองยวมแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ บริเวณพายัพเหนือ ” จนถึง ปี พ.ศ. 2556 พญาพิทักษ์สยามเขตถึงแก่กรรม เมืองเชียงใหม่จึงแต่งตั้ง พญาพิศาลฮ่องสอนบุรีขึ้นปกครองเมืองแทน พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองจัตวาขึ้นกับมณฑลพายัพ ย้ายที่ว่าการแขวงจากเมืองยวมมาตั้งที่แม่ฮ่องสอนให้ชื่อว่า “ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ” แล้วโปรดเกล้าฯให้พระศรสุรราช (เปลื้อง) มาปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน ถือว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนแรก (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 254 8 : 73

แหล่งที่มา: http://maehongson.mots.go.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=538739386&Ntype=4

ใส่ความเห็น